เอกสารประกอบการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

 

เอกสารประกอบการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น จะต้องมีเอกสารประกอบการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หลายท่านว่า ทำไมจะต้องมีเอกสารประกอบ ผู้เขียนขอเรียนว่า แต่เดิมการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสมัยที่ใช้กฎหมายเก่าคือ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 นั้น เอกสารประกอบการขอจดทะเบียนไม่มี มีแต่เพียงยื่นแบบคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเท่านั้น แต่ต่อมาเกิดมีการยื่นขอจดทะเบียนโดยไม่สุจริต กล่าวคือไปเอาเครื่องหมายการค้าของบุคคลมายื่นขอจดทะเบียน การที่ไม่มีเอกสารประกอบการขอจดทะเบียนทำให้เกิดปัญหาเมื่อเวลาฟ้องคดีกัน หาตัวบุคคลผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนไม่พบ ไม่มีตัวตนจริง ๆ บ้าง สร้างความเดือนร้อนผู้ที่สุจริตในการขอจดทะเบียน บางกรณีไปยื่นคำคัดค้านการจดทะเบียน เพื่อถ่วงเวลาการจดทะเบียน สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ขอจดทะเบียนที่สุจริตเนื่องจากหาตัวบุคคลผู้คัดค้านไม่พบ ดังนั้นความจำเป็นจะต้องมีเอกสารประกอบเพื่อแสดงว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นมีสภาพเป็นบุคคลตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม เรื่องผู้ที่จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้นั้น จะต้องมีสภาพเป็นบุคคลนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เคยหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัยที่ 318/2542 วินิจฉัยไว้แล้วดังนี้

คณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 318/2542 ที่ได้วินิจฉัยว่าในกรณีของสำนักจุฬาราชมนตรีที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายรับรอง ฮาลาล นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สำนักจุฬาราชมนตรีมิได้เป็นนิติบุคคล และหากกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะถือว่า สำนักจุฬาราชมนตรีเป็นบุคคลธรรมดา กรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ควรต้องทราบว่าบุคคลธรรมดาที่ได้รับจดทะเบียนนั้นเป็นบุคคลผู้ใด ซึ่งหากผู้นั้นได้รับจดทะเบียน ผู้นั้นก็เป็นเจ้าของและเมื่อเจ้าของตายลง สิทธิในเครื่องหมายรับรองก็จะสิ้นไป แต่ในเรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๘) เห็นว่า สำนักจุฬาราชมนตรีมิอาจถือได้ว่าเป็นบุคคลธรรมดา และเมื่อสำนักจุฬาราชมนตรีมิใช่นิติบุคคลและมิใช่บุคคลธรรมดา จึงไม่มีสภาพบุคคล การจดทะเบียนให้สำนักจุฬาราชมนตรีมีสิทธิในเครื่องหมายรับรองจึงไม่เป็นการถูกต้องตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔

กฎกระทรวง (พ.ศ.2535) ข้อ 10 กำหนดว่า “การขอจดทะเบียน ให้ผู้ขอยื่นคำขอพร้อมแนบเอกสารดังต่อไปนี้

(1) สำเนาคำขอ จำนวน 5 ฉบับ

(2) บัตรประจำตัว ”

ดังนั้น การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในขณะนี้ จึงจะต้องยื่นคำขอจดทะเบียน 1 ฉบับ โดยส่งสำเนาคำขอจดทะเบียนนั้นเพิ่มอีก 5 ฉบับ รวมเป็นยื่นแบบคำขอจดทะเบียน 6 ฉบับ พร้อมทั้งแนบหลักฐานประจำตัวบุคคล คือบัตรประจำตัว

ตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2535) ข้อ 3 ได้กำหนดไว้ว่า “ในกรณีที่ต้องแนบบัตรประจำตัวประกอบคำขอ

(1) ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา อาจใช้ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่น ๆ ที่ทางราชการออกให้ ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทางก็ได้

(2) ถ้าเป็นนิติบุคคล ให้ใช้หนังสือรับรองนิติบุคคลซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน โดยมีคำรับรองของผู้มีอำนาจให้คำรับรองตามกฎหมายไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ออกหนังสือรับรองนั้น เว้นแต่ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งได้ส่งเอกสารตาม ข้อ 5 โดยมีการระบุข้อความรับรองการเป็นนิติบุคคลในต่างประเทศไว้ด้วยแล้ว

ฉะนั้น บุคคลที่จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า นั้น แบ่งเป็น 2 กรณีคือ

ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา จะต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของบุคคลนั้น ๆ หรือสำเนาบัตรประจำตัวอื่น ๆ ที่ทางราชการออกให้ เช่น สำเนาใบขับขี่รถยนต์ หรือจะเป็นสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหรือหนังสือเดินทางก็ได้ ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนเป็นคนต่างประเทศหรือคนต่างด้าว

ในกรณีที่บุคคลที่อยู่ต่างประเทศ ประสงค์จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย อาจเดินทางเข้ามาในประเทศไทยชั่วคราวเพื่อยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ได้ โดยแนบส่งสำเนาหนังสือเดินทาง หรือสำเนาหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ชั่วคราว หรือหลักฐานอื่นที่แสดงให้นายทะเบียนเห็นว่าในขณะนั้นผู้นั้นได้เข้ามาในประเทศไทยจริง เพื่อประกอบคำขอจดทะเบียนได้

ถ้าเป็นนิติบุคคล การดำเนินการใด ๆ ของนิติบุคคล จะกระทำโดยผ่านทางผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ซึ่งในการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะต้องระบุผู้ที่มีอำนาจดำเนินการแทนนิติบุคคลไว้ในทะเบียนนิติบุคคลนั้น ๆ ซึ่งถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ผู้แทนของนิติบุคคล ก็คือ ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือถ้าเป็นบริษัทจำกัด ผู้แทนของนิติบุคคลก็คือ กรรมการบริษัทผู้มีอำนาจดำเนินกิจการแทนบริษัท ซึ่งบุคคลผู้เป็นผู้แทนของนิติบุคคล จะปรากฏรายชื่ออยู่ในหนังสือรับรองนิติบุคคล ซึ่งนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท จะเป็นผู้ออกหนังสือรับรองนิติบุคคลให้

หนังสือรับรองนิติบุคคลที่ใช้ประกอบการจดทะเบียน จะต้องเป็นหนังสือรับรองฉบับปัจจุบัน ซึ่งผู้ที่มีอำนาจออกหนังสือรับรองนั้นให้คำรับรองไว้ไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ออกหนังสือรับรองนั้น นั่นคือ อายุหนังสือรับรองที่จะใช้ประกอบการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องเป็นหนังสือรับรองที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทออกให้ไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ออกหนังสือรับรองในขณะที่ยื่นคำขอจดทะเบียน

กรณีที่เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนไว้ต่างประเทศ กรณีนี้กฎกระทรวง (พ.ศ.2535) ข้อ 3 (2) ไว้กำหนดยกเว้นไม่ต้องส่งหนังสือรับรองนิติบุคคลก็ได้ ถ้าหากว่าเป็นกรณีตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2535) ข้อ 5 คือมีการตั้ง

ตัวแทนในต่างประเทศ และได้ส่งหนังสือมอบอำนาจโดยบุคคลตามที่ระบุไว้ในข้อ 5 ได้ระบุข้อความรับรองการเป็นนิติบุคคลในต่างประเทศไว้ด้วย

โดยเหตุนี้ ถ้าเป็นนิติบุคคลต่างประเทศขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย โดยหลักการแล้วก็จะต้องส่งหนังสือรับรองนิติบุคคลฉบับปีปัจจุบัน ซึ่งผู้มีอำนาจตามกฎหมายรับรองไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ออกหนังสือรับรองนั้น แต่ถ้าจะไม่ส่งหนังสือรับรองนิติบุคคลก็ได้ แต่หนังสือมอบอำนาจที่ทำขึ้นในต่างประเทศนั้น ผู้ที่มีอำนาจรับรองลายมือชื่อ จะต้องรับรองการเป็นนิติบุคคลในต่างประเทศนั้นไว้ในหนังสือมอบอำนาจนั้นด้วย

CR กรมทรัพย์สินทางปัญญา

 

Translate »