คุณลักษณะของเครื่องหมายการค้าเครื่องหมายบริการเครื่องหมายรับรองและเครื่องหมายร่วม
ในการประกอบธุรกิจใด ๆ ก็ตาม นอกเหนือจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องลงทุน อาทิเช่น เงินลงทุน สถานที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ บุคคลากร ความรู้ความชำนาญ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำเนินการแล้ว สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เพื่อใช้เป็นที่ให้ลูกค้าจดจำ และติดตามซื้อสินค้าหรือขอรับการบริการในครั้งต่อไปนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการประกอบธุรกิจเช่นกัน
ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 ได้แบ่งประเภทเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบธุรกิจออกเป็น 4 ประเภท คือ
- เครื่องหมายการค้า
- เครื่องหมายบริการ
- เครื่องหมายรับรอง
- เครื่องหมายร่วม
กฎหมายเครื่องหมายการค้าได้ให้คำนิยามเครื่องหมายทั้ง 4 ประเภทไว้ดังนี้
เครื่องหมายการค้า หมายถึง เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับ
สินค้า เพื่อแสดงว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น แตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น
เครื่องหมายบริการ หมายถึง เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการ เพื่อแสดงว่า บริการที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายบริการน้น แตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น
เครื่องหมายรับรอง หมายถึง เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด ส่วนประกอบ วิธีการผลิต คุณภาพ หรือคุณลักษณะอื่นใดของสินค้านั้น หรือเพื่อรับรองเกี่ยวกับสภาพ คุณภาพ ชนิด หรือคุณลักษณะอื่นใดของบริการนั้น
เครื่องหมายร่วม หมายถึง เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้หรือจะใช้โดยบริษัทหรือวิสากิจในกลุ่มเดียวกัน หรือโดยสมาชิกของสมาคม สหกรณ์ สหภาพ สมาพันธ์ กลุ่มบุคคลหรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน
จากคำนิยามของเครื่องหมายดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า
ในส่วนของเครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการ นั้นจะต้องเป็นเครื่องหมายที่เจ้าของ
ประสงค์จะใช้เครื่องหมายการค้าเฉพาะกับสินค้า และเครื่องหมายบริการเฉพาะการบริการ ที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้
ส่วนเครื่องหมายรับรองนั้น ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายรับรองเท่านั้น ที่จะเป็นผู้รับรองสินค้าของบุคคลอื่น หรือการบริการของบุคคลอื่นเท่านั้น จะรับรองสินค้าหรือการบริการของตนเองไม่ได้ เพราะกฎหมายห้ามไว้ และหากผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายรับรองฝ่าฝืน โดยไปรับรองสินค้าหรือบริการของตนเอง ย่อมมีความผิดทางอาญา ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
ในการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองนั้น จะต้องมีข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรอง
โดยข้อบังคับนั้น จะต้องระบุถึง
- แหล่งกำเนิด – สถานที่ซึ่งเป็นที่มา หรือที่ผลิต หรือที่ประกอบหรือที่เริ่มกิจการของสินค้าหรือบริการที่จะรับรอง
- ส่วนประกอบ – สิ่งต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบเป็นสินค้าหรือบริการที่จะรับรอง
- วิธีการผลิต – กรรมวิธีการผลิตสินค้าหรือวิธีการให้บริการโดยสังเขป
- คุณภาพ – ลักษณะที่เป็นส่วนดีหรือลักษณะประจำของสินค้าหรือบริการที่จะรับรอง
- คุณลักษณะอื่นใดของสินค้าหรือบริการที่จะรับรอง – ส่วนลักษณะย่อย ๆ ของสินค้าหรือการบริการที่จะรับรอง
- หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง – หลักเกณฑ์ในการขอใช้และอนุญาตให้ใช้ วิธีการขอใช้และอนุญาตให้ใช้ เงื่อนไขในการขอใช้และอนุญาตให้ใช้ มาตรการในควบคุมคุณภาพของสินค้าหรือบริการที่จะรับรอง เป็นต้น
นอกจากข้อบังคับที่จะต้องกำหนดขึ้นมาดังกล่าวแล้ว ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองจะแสดงให้นายทะเบียนเห็นว่า ตนมีความสามารถเพียงพอที่จะรับรองคุณลักษณะของสินค้าหรือบริการตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับด้วย
ส่วนเครื่องหมายร่วมนั้น เป็นการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ เพื่อใช้หรือจะใช้โดยกลุ่มบริษัทหรือวิสาหกิจร่วมค้าในกลุ่มเดียวกัน หรือโดยบุคคลที่เป็นสมาชิกของสมาคม สหกรณ์ สหภาพ สมาพันธ์ หรือโดยกลุ่มบุคคลหรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน มีลักษณะเป็นเครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายในขณะที่ยื่นขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายรับรอง ยินยอมให้สมาชิกในกลุ่มบริษัท วิสาหกิจ ในเครือข่ายการค้าของตนเองมาใช้เครื่องหมายร่วมนี้ เป็นเครื่องหมายที่สื่อความหมายถึง การรวมกลุ่มของการประกอบธุรกิจในเครือข่ายการค้าร่วมกันในสินค้าหรือการบริการที่เหมือนกัน เป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่สมาชิกที่ใช้เครื่องหมายร่วมนั่นเอง
เครื่องหมายทั้ง 4 ประเภทดังกล่าวข้างต้นนั้น มีลักษณะประจำตัวของเครื่องหมายที่เหมือน
กันและมีความแตกต่างกัน ดังนี้
1.การใช้เครื่องหมาย
2.การฟ้องคดี
3.การจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิในเครื่องหมาย
4.การอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมาย
การใช้เครื่องหมาย
เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายให้แก่ผู่ใดแล้ว ผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายนั้น เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายนั้นสำหรับสินค้าหรือบริการที่ได้จดทะเบียนไว้
การฟ้องคดี
เมื่อกฎหมายเครื่องหมายการค้าบัญญัติให้ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายนั้นแล้ว หากมีบุคคลอื่นนำเครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของตนที่ได้จดทะเบียนไว้ไปใช้กับสินค้าหรือบริการอย่างเดียวกับที่ได้จดทะเบียนไว้หรือมีลักษณะอย่างเดียวกับที่ได้จดทะเบียนไว้ ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายนั้น ย่อมมีสิทธิที่ฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญากลางและการค้าระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายหรือเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดสิทธิดังกล่าวได้
การจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิในเครื่องหมาย
เจ้าของเครื่องหมายย่อมมีสิทธิที่จะจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิในเครื่องหมายของตนให้แก่บุคคลอื่นใดได้ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
1.ต้องระบุด้วยว่า เป็นการโอนพร้อมกับกิจการที่เกี่ยวกับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ หรือโอน
เฉพาะเครื่องหมายแต่เพียงอย่างเดียว
2.หากเครื่องหมายที่จะโอนนั้นมีการจดทะเบียนไว้เป็นเครื่องหมายชุด จะโอนได้ต้องโอนเครื่องหมายทั้งชุดพร้อมกันด้วย และ
3.จะต้องจดทะเบียนการโอนนั้นต่อนายทะเบียนจึงจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
แต่สำหรับเครื่องหมายรับรองนั้น ถ้าจะโอนสิทธิในเครื่องหมายรับรอง ผู้รับโอนเครื่องหมาย
รับรองจะต้องสามารถแสดงต่อนายทะเบียนได้ว่า ตนมีความสามารถเพียงพอที่จะรับรองคุณลักษณะของสินค้าหรือบริการตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองด้วย
การที่กฎหมายกำหนดให้ผู้รับโอนต้องแสดงความสามารถต่อนายทะเบียนเนื่องมาจากการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองนั้น ผู้ขอจดทะเบียนจะต้องเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะในการที่จะรับรองสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ได้ ดังนั้น ผู้รับโอนที่จะขอรับโอนสิทธิในเครื่องหมายรับรองมาจากเจ้าของเดิม ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการรับรองสินค้าหรือบริการตามที่ข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองกำหนดไว้ด้วยเช่นกัน
การอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมาย
เมื่อกฎหมายให้สิทธิผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ใช้เครื่องหมายที่จดทะเบียนไว้แล้วนั้นแต่เพียงผู้เดียวแล้ว หากจะมิให้เจ้าของยินยอมให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายนั้นด้วย จะเป็นการขัดต่อสิทธิของผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายนั้น ๆ ในการแสวงหาประโยชน์ที่ควรได้จากการใช้เครื่องหมาย ซึ่งย่อมไม่เป็นธรรมและเป็นการขัดขวางในการประกอบธุรกิจของผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมาย
ในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการนั้น เจ้าของเครื่องหมายที่ได้จดทะเบียนไว้ ย่อมอนุญาตให้บุคคลอื่นที่ประสงค์จะใช้เครื่องหมายนั้นสำหรับสินค้าหรือบริการที่ได้จดทะเบียนไว้ทั้งหมดหรือบางอย่างก็ได้ โดยทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อนายทะเบียน
แต่ถ้าเป็นเครื่องหมายรับรอง ผู้ที่จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายรับรองเท่านั้นที่จะเป็นผู้ไปรับรองสินค้าหรือการบริการของบุคคลอื่น จะอนุญาตให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับรองโดยใช้เครื่องหมายรับรองนั้นไม่ได้ และเมื่อเจ้าของเครื่องหมายรับรองได้ไปรับรองสินค้าหรือบริการของผู้ใดแล้ว บุคคลผู้นั้นย่อมมีสิทธิใช้เครื่องหมายรับรองนั้นควบคู่ไปกับเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการของตนเองได้ โดยเจ้าของเครื่องหมายรับรองจะต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อเจ้าของเครื่องหมายรับรองมอบให้แก่บุคคลผู้นั้นไว้ก็เพียงพอ ไม่ต้องนำหนังสือนั้นไปจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย ฯ เหมือนเช่นการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ
สำหรับเครื่องหมายร่วมนั้น พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า ฯ มาตรา 94 บัญญัติมิให้นำบทบัญญัติในหมวด 1 ส่วนที่ 5 การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า มาใช้บังคับ นั่นหมายความว่า ไม่มีการจดทะเบียนอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายร่วม ทั้งนี้โดยผลการขอจดทะเบียนเครื่องหมายร่วมนั้น เป็นการขอจดทะเบียนโดยเจ้าของผู้ขอจดทะเบียนยินยอมให้บุคคลอื่นเข้าร่วมใช้เครื่องหมายนั้นแล้วตั้งแต่ต้น ดังนั้น หากจะมีการอนุญาตให้บริษัทหรือวิสาหกิจอื่นใดรายใหม่มาเข้าร่วมใช้เครื่องหมายร่วมนั้นเพิ่มเติม ก็ใช้วิธีการยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมระบุรายชื่อสมาชิกที่เข้าใหม่แทนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาต ฯ
จากคุณลักษณะที่เหมือนกันและแตกต่างกันดังกล่าวข้างต้น หากท่านที่จะจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายประเภทใด ย่อมขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์หลักของท่านว่าจะดำเนินธุรกิจไปทางใด หากจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการ ย่อมดำเนินธุรกิจได้ภายในขอบเขตรายการสินค้าหรือบริการที่ได้จดทะเบียนไว้ตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว แต่หากจะจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายรับรอง กฎหมายกำหนดข้อห้ามไว้บางประการ เช่น ห้ามการรับรองสินค้าหรือบริการของตนเอง ตัวอย่างเช่น นาย ก.จดทะเบียนเครื่องหมายรับรองรายการสินค้า เนื้อหมู ไว้แล้ว ดังนั้น แม้นาย ก. จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใหม่ รายการสินค้า เนื้อหมู เป็นอีกเครื่องหมายต่างหากจากเครื่องหมายรับรอง นาย ก. จะเอาเครื่องหมายรับรองของตน ไปรับรองสินค้าเนื้อหมู ที่ใช้เครื่องหมายการค้าต่างหากไม่ได้ จึงเหมาะสำหรับหน่วยราชการที่จะรับรองสินค้าหรือการบริการที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานนั้น ๆ ส่วนเครื่องหมายร่วมนั้น เหมาะสำหรับกลุ่มบริษัทร่วมค้า หรือสมาชิกทุกคนในสมาคม สหภาพ สหกรณ์ ซึ่งจำกัดอยู่ในวงสมาชิกที่เล็กกว่าสมาชิกในเครื่องหมายรับรอง
องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก ได้ให้ความสำคัญของเครื่องหมายการค้าไว้ว่า มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจมหภาคในส่วนของการแสดงถึงต้นกำเนิดและเทคโนโลยี ซึ่งย้ำความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสำคัญในด้านกลยุทธ์การตลาดให้กับแต่ละบริษัท การนำเครื่องหมายการค้าไปใช้นั้นพบมากที่สุดในการโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขาย ช่วยให้เจ้าของเพิ่มผลกำไร ตอบโต้การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ขาย และรักษาส่วนแบ่งตลาด สร้างความแตกต่างให้กับสินค้า นำเสนอสินค้าใหม่ รับค่าตอบแทนสิทธิจากการอนุญาตสิทธิ ช่วยผู้ร่วมลงทุนและคู่ค้าทางการตลาดด้านกลยุทธ์ รวมทั้งสามารถใช้เป็นเครื่องยืนยันมูลค่าของบริษัทหากต้องเปลี่ยนมือทางการเงิน
ดังนั้น หากท่านได้จดทะเบียนเครื่องหมายไว้แล้ว แต่ท่านมิได้นำเครื่องหมายนั้นออกใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางธุรกิจ หรือนำเครื่องหมายนั้นไปใช้กับสินค้าหรือการบริการที่ไม่มีมาตรฐานที่ดี ท่านไม่อาจได้รับประโยชน์ใด ๆ จากการจดทะเบียนเครื่องหมายนั้นได้เลย เพราะเครื่องหมายนั้น ยิ่งใช้ยิ่งเพิ่มคุณค่า ถ้านำไปใช้กับสินค้าหรือบริการที่ประทับใจผู้บริโภค
CR กรมทรัพย์สินทางปัญญา