
งานวิจัยการใช้สารเสริมอาหารโดยการประยุกต์ใช้เทคนิคการตรึงเซลล์ยีสต์ทะเล
งานวิจัยการใช้สารเสริมอาหารโดยการประยุกต์ใช้เทคนิคการตรึงเซลล์ยีสต์ทะเล Pichia sp. เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของปลากะพงขาว
คำขอสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 1503001890 ยื่นคำขอวันที่ 30 ตุลาคม 2558
ที่มาของงานวิจัยการใช้สารเสริมอาหารโดยการประยุกต์ใช้เทคนิคการตรึงเซลล์ยีสต์ทะเล
ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
การตรึงเซลล์ คือ การจำกัดขอบเขตของจุลินทรีย์ให้อยู่ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง โดยจุลินทรีย์ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ และเซลล์จุลินทรีย์ไม่สูญเสียคุณสมบัติการทำงาน และยังสามารถนำเซลล์กลับมาใช้ใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง สภาพของเซลล์ที่ถูกตรึงนั้นอาจจะกำลังเจริญ กำลังพักตัวหรือตายก็ได้ การใช้เทคนิคการตรึงสารไว้ภายในเม็ดแคปซูลในอาหารสัตว์น้ำ ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตอาหารเพื่อตรึงสารที่สำคัญไว้ภายในแคปซูลและไม่ให้สารเหล่านั้นรั่วไหลออกมาจากเม็ดอาหารและละลายในน้ำก่อนเวลาที่ต้องการ และเพื่อให้สารอาหารคงสภาพเมื่ออยู่ในน้ำในระยะเวลานานขึ้น ซึ่งขนาดและชนิดของอาหารสำเร็จรูปที่ผลิตได้แตกต่างกันไปขึ้นกับเทคนิคการผลิต การใช้เทคนิคการตรึงสารในการป้องกันและรักษาโรคสัตว์น้ำ ได้ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาวัคซีนโดยวิธีการให้กินเพื่อลดการใช้สารเคมีในการรักษาโรค ซึ่งเทคนิคการให้ปลากินยาเพื่อเป็นการป้องกันโรคนั้นเป็นเทคนิคที่ดีในการเพาะเลี้ยง แต่การให้ปลากินยาหรือวัคซีนที่ผสมลงในอาหารโดยตรงอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาที่ให้ลดลงได้ เนื่องมาจากยาสลายตัวเมื่ออยู่ในน้ำหรือถูกทำให้เสียสภาพเมื่ออยู่ในระบบทางเดินอาหารก่อนเวลาอันควร ซึ่งปลาอาจไม่ได้รับยาครบตามปริมาณที่ต้องการ ดังนั้นเทคนิคการตรึงตัวยาหรือวัคซีน ที่ถูกห่อหุ้มตัวไว้ภายในเม็ดแคปซูล (อาหาร) สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
สรุปเทคโนโลยีของงานวิจัยการใช้สารเสริมอาหารโดยการประยุกต์ใช้เทคนิคการตรึงเซลล์ยีสต์ทะเล
การใช้สารเสริมอาหารที่มีเซลล์ตรึงยีสต์เป็นองค์ประกอบเพื่อกระตุ้นระดับแอนติบอดีในซีรั่มปลากะพงขาวนั้นต้องทำการตรึงเซลล์ยีสต์ประมาณ 50000 เซลล์ในแคลเซียมอัลจิเนต ที่มีโซเดียมอัลจิเนตเข้มข้นร้อยละ 1.2 ปริมาตร 100 มล. ใช้แคลเซียมคลอไรด์เข้มข้นร้อยละ 1.5 เพื่อให้ได้เม็ดเจลแคลเซียมอัลจิเนต นำเม็ดเจลที่ตรึงเซลล์ยีสต์ทำให้แห้งและบดเป็นผงผสมในอาหารสำหรับเลี้ยงปลากะพง โดยในสูตรอาหารประกอบด้วยเซลล์ตรึงยีสต์ในแคลเซียมอัลจิเนต 15 กรัมแห้งต่ออาหารปลากะพงขาว 1 กิโลกรัม คิดเป็นโปรตีนประมาณร้อยละ 50 ไขมันร้อยละ 12 คาร์โบไฮเดรตที่ละลายน้ำร้อยละ 15 และมีความชื้นประมาณร้อยละ 6 การให้อาหารกับปลากะพงขาวใช้อาหาร 0.6 กรัมต่อน้ำหนักปลา 1 กรัม เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ทุกวัน ปลาจะได้รับเซลล์ยีสต์ประมาณ 3,000 เซลล์ต่อน้ำหนักปลา 1 กรัม เมื่อให้อาหารเป็นเวลา 14 วัน แล้ววัดระดับแอนติบอดีในซีรั่มปลากะพงขาว พบว่าอาหารที่มีเซลล์ยีสต์สามารถกระตุ้นให้มีการเพิ่มขึ้นของระดับแอนติบอดีในซีรั่มปลากะพงขาวเป็น 1.5 เท่าของชุดควบคุม
จุดเด่นของเทคโนโลยีงานวิจัยการใช้สารเสริมอาหารโดยการประยุกต์ใช้เทคนิคการตรึงเซลล์ยีสต์ทะเล
การประดิษฐ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้เป็นอาหารเสริมกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของปลากะพงขาวให้มีระดับแอนติบอดีสูงขึ้น ด้วยคุณสมบัติที่ดีของยีสต์ทะเล Pichia sp. ด้านคุณค่าอาหารและองค์ประกอบกรดไขมัน ที่มีคุณสมบัติในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของปลากะพง จึงนำเซลล์ยีสต์ดังกล่าวมาผ่านกระบวนการตรึงเซลล์ด้วยแคลเซียมอัลจิเนตเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบชนิดหนึ่งของอาหารปลา โดยมีวัตถุประสงค์ของการใช้เซลล์ตรึงเพื่อให้สารอาหารคงสภาพเมื่ออยู่ในน้ำหรือในระบบทางเดินอาหารของปลาในระยะเวลานานขึ้น และให้เซลล์ค่อยๆถูกปล่อยออกมาเพื่อกระตุ้นการสร้างแอนติบอดี เมื่อปลากะพงกินอาหารนี้จะทำให้ปลา มีระดับของแอนติบอดีในซีรั่มเพิ่มขึ้น และมีความต้านทานต่อการติดเชื้อ หรือลดความรุนแรงของการติดเชื้อ มีสุขภาพดี สามารถเลี้ยงได้เป็นระยะเวลานาน หรือใช้เสริมเมื่อปลามีความเครียด ทำให้ลดปริมาณการใช้ยาหรือสารเคมีที่ใช้ในการรักษาโรค เช่น ฟอร์มาลีน (formalin) คอปเปอร์ซัลเฟต (copper sulphate) ควินิน (quinine) หรือคลอโรควิน (chloroquine) เป็นต้น
ความร่วมมือที่เสาะหา
เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ
CR thailandtechshow