การมอบอำนาจของผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

 

การมอบอำนาจของผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

ในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น นอกจากผู้ขอจดทะเบียนจะเป็นผู้ที่ไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วยตนเองแล้ว อาจจะมอบอำนาจให้บุคคลใด ๆ ไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแทนตนเองก็ได้ ซึ่งการมอบอำนาจนั้น ผู้รับมอบอำนาจอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ และผู้รับมอบอำนาจย่อมีอำนาจลงลายมือชื่อของตนในการดำเนินการแทนผู้มอบอำนาจได้การมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนได้ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ โดยไม่จำเป็นต้องให้บุคคลผู้มอบอำนาจลงลายมือชื่อ แต่การลงชื่อในกรณีนี้ ผู้รับมอบอำนาจจะต้องลงชื่อของตนเองไม่ใช่ลงลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 755/2502 ตามธรรมดาบุคคลย่อมตั้งตัวแทนตนได้เสมอ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษทำนองว่า ให้ต้องกระทำด้วยตนเองหรือตามสภาพไม่เปิดช่องให้มอบอำนาจจัดการแทนกันได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 890/2503 ผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาย่อมมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอาญาแทนได้ เมื่อผู้เสียหายมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอาญาแล้ว ผู้ที่รับมอบอำนาจก็ย่อมลงชื่อในฟ้องแทนโจทก์ได้ ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 ข้อ (7)

การมอบอำนาจให้ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า อาจแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ

  1. การมอบอำนาจทั่วไป

การมอบอำนาจทั่วไป เป็นการมอบอำนาจที่ตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจจะทำกิจใด ๆ ในทางจัดการแทนตัวการหรือผู้มอบอำนาจได้ทุกอย่าง ยกเว้นกิจการต่อไปนี้ซึ่งตัวแทนจะทำไม่ได้คือ

1.1 ขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์

1.2 ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป

1.3 ให้

1.4 ประนีประนอมยอมความ

1.5 ยื่นฟ้องคดีต่อศาล

1.6 มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา

คำพิพากษาฎีกาที่ 1305/2511 จำเลยเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป ไม่มีการมอบอำนาจโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 801 จึงไม่มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้เป็นการผูกพันตัวการ

คำพิพากษาฎีกาที่ 2526/2520 การทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 851 บัญญัติว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนให้ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

คำพิพากษาฎีกาที่ 300/2515 หนังสือมอบอำนาจระบุให้อำนาจตัวแทนทำกิจการแทนตัวการไว้หลายอย่างและให้ยื่นฟ้องต่อศาลเกี่ยวกับทรัพย์สินของตัวการได้ด้วย ดังนี้ตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจนั้นย่อมมีอำนาจฟ้องคดีแทนตัวการได้ หาจำต้องมีการมอบอำนาจกันเฉพาะเรื่องเฉพาะรายไม่

ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 801 บัญญัติว่า ตัวแทนได้รับมาอบอำนาจทั่วไปไม่อาจยื่นฟ้องต่อศาลได้นั้น มีความแต่เพียงว่า หากการมอบอำนาจมิได้ระบุไว้ว่าให้ตัวแทนยื่นฟ้องต่อศาลแทนตัวการ ตัวแทนก็ไม่อาจยื่นฟ้องได้

  1. การมอบอำนาจเฉพาะการ

ตามมาตรา 800 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า “ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจแต่เฉพาะการ ท่านว่าจะทำการแทนตัวการได้แต่เพียงในสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสำเร็จลุล่วงไป” ดังนั้น ตัวแทนรับมอบอำนาจเฉพาะการ จึงหมายถึงตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจให้ทำการแทนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ 3 เมื่อตัวแทนเฉพาะการกระทำการดังกล่าวเสร็จสิ้นไป การเป็นตัวแทนสิ้นสุดลงทันที

ในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น จะพบว่ามีการตั้งตัวแทนเฉพาะการมากในเรื่องการรับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้า การขอต่ออายุทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งเมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนโอนเครื่องหมายการค้าหรือต่ออายุทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ความเป็นตัวแทนเฉพาะการจะสิ้นสุดลงทันที ตัวแทนที่ได้จดทะเบียนไว้อยู่แต่เดิมยังคงเป็นตัวแทนอยู่เฉพาะกรณีการต่ออายุ

แต่สำหรับการโอนสิทธิเครื่องหมายการค้ากลับมีปัญหาเพราะเมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนแล้ว การเป็นตัวแทนเฉพาะการของผู้รับโอนจะสิ้นสภาพไปเมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนโอนเครื่องหมาย ฉะนั้นเครื่องหมายการค้านั้นอาจถูกเพิกถอนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 มาตรา 59 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วหรือตัวแทนเลิกตั้งสำนักงานหรือสถานที่ที่ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทยแล้ว ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ” ทางปฏิบัตินายทะเบียนจะสั่งให้ระบุชื่อบุคคลและสถานที่อยู่ของบุคคลที่นายทะเบียนจะติดต่อด้วยแทนคำว่าตัวแทนเฉพาะการ

ข้อสังเกต 1. ตัวแทนเฉพาะการจะขอจดทะเบียนยกเลิกการเป็นตัวแทนทั่วไปที่ตัวการได้เคยแต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นตัวแทนทั่วไปไม่ได้ เพราะความเป็นตัวแทนจะสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 826 กล่าวคือ ตัวการถอนการเป็นตัวแทน หรือตัวแทนยกเลิกการเป็นตัวแทน หรือคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือล้มละลาย

นอกจากนั้น

  1. เมื่อรับจดทะเบียนโอนเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนโอนโดยตัวแทนเฉพาะการของผู้รับโอนแล้ว ความเป็นตัวแทนทั่วไปของผู้โอนเดิมย่อมสิ้นสุดลงไป ผู้ขอจดทะเบียนบางรายยังมีความเข้าใจผิดว่า ตัวแทนทั่วไปของผู้โอนเป็นตัวแทนของผู้รับโอนด้วย เว้นแต่ผู้รับโอนจะได้แต่งตั้งให้บุคคลนั้นเป็นตัวแทนทั่วไปแทนตัวแทนเฉพาะการ กรณีนี้ผู้รับโอนต้องยื่นคำร้องจดทะเบียนตั้งตัวแทนเช่นกัน
  2. การเป็นตัวแทนเฉพาะการนั้น นายทะเบียนจะไม่บันทึกทางทะเบียนว่าใครเป็นตัวแทนเฉพาะ เพราะมิใช่ตัวแทนถาวรหรือตัวแทนทั่วไป อย่างไรก็ตามในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้มีการแต่งตั้งตัวแทนเฉพาะการให้กระทำการใด ๆ ไว้ เช่นให้ไปดำเนินการต่ออายุทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนต่ออายุทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แล้ว ความเป็นตัวแทนเฉพาะการสิ้นสุดลง ผู้ที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้แต่งตั้งให้เป็นตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจทั่วไปอยู่เดิมยังคงเป็นตัวแทนในทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ๆ อยู่

4..ในบางกรณีตัวการมอบหมายให้ตัวแทนเฉพาะการในเรื่องเกี่ยวกับการรับโอนเครื่องหมายการค้าหรือการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า และยังมอบอำนาจให้มีการฟ้องร้องหรือดำเนินคดีใด ๆ ได้ ซึ่งแม้การมอบอำนาจนั้นจะเป็นการมอบอำนาจทั่วไปก็ตาม แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าถือว่าเป็นการมอบอำนาจเฉพาะการ

  1. การมอบอำนาจช่วง

โดยปกติเมื่อมีการตั้งตัวแทนเกิดขึ้น มาตรา 808 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า ตัวแทนต้องทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะมีอำนาจใช้ตัวแทนช่วงทำการได้ ซึ่งคำว่า ตัวแทนช่วง นั้นหมายถึงบุคคลที่ตัวการมิได้แต่งตั้งให้กระทำกิจการแทนตัวการโดยตรง แต่เป็นบุคคลที่ตัวแทนได้ใช้ให้ทำกิจการแทนตัวการต่อไปอีกทอดหนึ่ง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 813 บัญญัติว่า “ตัวแทนผู้ใดตั้งตัวแทนช่วงตามที่ตัวการระบุตัวให้ตั้ง ท่านว่าตัวแทนผู้นั้นจะต้องรับผิดแต่เพียงในกรณีที่ตนได้รู้ว่าตัวแทนช่วงนั้นเป็นผู้ที่ไม่เหมาะแก่การ หรือเป็นผู้ที่ไม่สมควรไว้วางใจแล้วและมิได้แจ้งความนั้นให้ตัวการทราบหรือมิได้เลิกถอนตัวแทนช่วงนั้นเสียเอง ”

การจะตั้งตัวแทนช่วงหรือผู้รับมอบอำนาจช่วงได้นั้น ผู้มอบอำนาจหรือตัวการจะต้องระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจด้วยว่าให้ผู้มอบอำนาจหรือตัวแทนมีสิทธิตั้งตัวแทนช่วงหรือผู้รับมอบอำนาจช่วงได้ โดยจะระบุชื่อผู้รับมอบอำนาจช่วงไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้

การมอบอำนาจช่วงจะมีได้ก็โดยตัวแทนเป็นผู้มอบอำนาจช่วงเท่านั้น เมื่อมีการตั้งตัวแทนช่วงแล้ว มาตรา 814 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า “ตัวแทนช่วงย่อมรับผิดโดยตรงต่อตัวการฉันใด กลับกันก็ฉันนั้น” นั้นคือ ตัวแทนช่วงต้องรับผิดโดยตรงต่อตัวการเพราะถือว่ากิจการที่ตัวแทนช่วงได้กระทำไป เป็นการกระทำ ตามที่ตัวการมอบหมายและผูกพันตัวการนั้น ๆ ส่วนตัวแทนเดิมก็หลุดพ้นความรับผิด ไม่ต้องตกเป็นคู่สัญญากับตัวแทนช่วงหรือตัวการ เพราะมีคนมาทำงานแทนแล้ว เว้นแต่ตัวแทนจะเป็นผู้มีส่วนผิดในการคัดเลือกตัวแทนช่วง 5 แต่ถ้าหากตัวการมอบหมายเสียเองไม่ถือว่าเป็นการมอบอำนาจช่วง แต่เป็นการมอบอำนาจตั้งผู้มอบอำนาจเพิ่มเติม

การเป็นตัวแทนช่วงในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นถือเป็นรายการทางทะเบียนเครื่องหมายการค้าอย่างหนึ่งซึ่งหากมีการแต่งตั้งตัวแทนช่วงไว้ นายทะเบียนจะบันทึกเป็นรายการทางทะเบียน ฉะนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตัวแทนช่วง จะต้องจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนด้วย ทั้งนี้เป็นตัวแทนช่วงมีอำนาจดำเนินการใด ๆ เฉกเช่นเดียวกับตัวแทนทั่วไป โดยบุคคลที่เป็นตัวแทนยังคงมีอำนาจที่จะไปดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ เนื่องจากการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น บางครั้งบุคคลผู้เป็นตัวแทนไม่อาจไปดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงได้มอบหมายให้ตัวแทนช่วงเป็นผู้ไปดำเนินการแทน

CR กรมทรัพย์สินทางปัญญา

 

Translate »