การระบุระยะเวลามอบอำนาจเครื่องหมายการค้าในหนังสือมอบอำนาจ
ในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ผู้เขียนพบว่า ระยะเวลาในการทำหนังสือมอบอำนาจและระยะเวลาในการนำหนังสือมอบอำนาจไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น บางครั้งห่างกันเป็นระยะเวลากว่าหนึ่งปีก็เคยพบ จึงมักจะได้รับคำถามอยู่เสมอว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวนั้นจะใช้ได้หรือไม่
การทำหนังสือมอบอำนาจกันไว้ล่วงหน้านั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงย่อมสามารถที่จะกระทำได้ ตราบใดที่หนังสือมอบอำนาจนั้นยังมิได้มีการยกเลิกหรือสิ้นสุดการเป็นผู้รับมอบ อำนาจกัน
คำพิพากษาฎีกาที่ 4397/2530 หนังสือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยและผู้เกี่ยวข้อง ไม่จำเป็นต้องระบุว่าให้ร้องทุกข์กี่คดี และไม่จำเป็นต้องกำหนดระยะเวลาการมอบอำนาจไว้
คำพิพากษาฎีกาที่ 9695/2539 ผู้ใดจะมอบอำนาจไว้ล่วงหน้าให้แก่บุคคลเพื่อกระทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนตนซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายย่อสามารถจะทำได้ การมอบอำนาจให้แจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีความผิดเกี่ยวกับเช็คแก่พนักงานสอบสวน เป็นการมอบอำนาจให้กระทำกิจการอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายแม้ในขณะมอบอำนาจความผิดยังไม่เกิด ผู้มอบอำนาจก็สามารถมอบอำนาจไว้ก่อนได้
แต่ในกรณีที่มีการมอบอำนาจแทนนิติบุคคลก่อนที่นิติบุคคลนั้นจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ศาลฎีกาท่านถือว่าได้มีการมอบอำนาจกันในนามของนิติบุคคลนั้นแล้วด้วย
คำพิพากษาฎีกาที่ 7421/2538 ขณะโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ดูแลรักษาความปลอดภัยในศูนย์การค้าห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล โดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหลังจากมีการมอบอำนาจแล้ว 4 วัน และตามหนังสือมอบอำนาจมีตราของห้างจำเลยที่ 1 ประทับไว้ที่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 แสดงว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ร่วมดำเนินกิจการกับจำเลยที่ 2 ด้วย มิใช่เป็นเรื่องมอบอำนาจระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะเท่านั้น
CR กรมทรัพย์สินทางปัญญา