การมอบอำนาจให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

 

การมอบอำนาจให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 มิได้บัญญัติว่าบุคคลที่จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้จะต้องเป็นใครบ้าง แต่ตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2535) ได้กล่าวถึงการทำหนังสือมอบอำนาจของบุคคลที่อยู่ต่างประเทศว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ทำให้เข้าใจได้ว่า บุคคลที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศก็สามารถขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยได้ ข้อสำคัญก็คือ ผู้ที่ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะต้องมีสภาพเป็นบุคคลตามกฎหมาย โดยจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลตามกฎหมายก็ได้

การมอบอำนาจ

คือ การให้ตัวแทนมีอำนาจทำการแทนตัวการนั่นเอง และการแต่งตั้งตัวแทนนั้นจะแต่งตั้งโดยเปิดเผยหรือโดยปริยายก็ได้ (มาตรา 797 วรรคสอง) และกิจการใดที่กฎหมายบัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนก็ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย การที่ทำหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือย่อมหมายถึงหนังสือหรือหลักฐานอันมีลายมือชื่อของผู้เป็นตัวการซึ่งเป็นผู้แต่งตั้ง (มาตรา 9)คำพิพากษาฎีกาที่ 755/2502 ตามธรรมดาบุคคลย่อมตั้งตัวแทนตนได้เสมอ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษทำนองว่า ให้ต้องกระทำด้วยตนเองหรือตามสภาพไม่เปิดช่องให้มอบอำนาจจัดการแทนกันได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 890/2503 ผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาย่อมมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอาญาแทนได้ เมื่อผู้เสียหายมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอาญาแล้ว ผู้ที่รับมอบอำนาจก็ย่อมลงชื่อในฟ้องแทนโจทก์ได้ ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 ข้อ (7)

 

การมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนได้ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ โดยไม่จำเป็นต้องให้บุคคลผู้มอบอำนาจลงลายมือชื่อ แต่การลงชื่อในกรณีนี้ ผู้รับมอบอำนาจจะต้องลงชื่อของตนเองไม่ใช่ลงลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้จัดทำฟอร์มหนังสือมอบอำนาจขึ้นไว้เพื่อความสะดวกแก่ผู้ขอจดทะเบียนที่จะใช้ยื่นคำขอจดทะเบียน ข้อความใดที่ผู้มอบอำนาจไม่ประสงค์จะมอบอำนาจให้แก่ตัวแทน ให้ขีดฆ่าข้อความดังกล่าวและลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกครั้ง ข้อความในหนังสือมอบอำนาจตามตัวอย่างต่อไปนี้ ข้าพเจ้าได้เพิ่มข้อความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 805 ไว้ เพื่อให้ตัวแทนสามารถดำเนินการในนามของตัวแทนอีกฝ่ายหนึ่งได้ในการทำสัญญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าหรือในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

คำพิพากษาฎีกาที่ 8743/2542 หนังสือมอบอำนาจมิได้เจาะจงว่า ให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนผู้มอบอำนาจเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ผู้รับมอบอำนาจจึงมีอำนาจกระทำการใด ๆ ก็ได้ภายในขอบเขตที่ผู้มอบอำนาจให้ไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 และแม้โจทก์จะใช้หนังสือมอบอำนาจกระทำการอย่างอื่นแล้วก็ตาม ก็ไม่มีกฎหมายใดห้ามมิให้นำมาใช้ฟ้องคดีนี้อีกการกรอกชื่อผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจ ที่อยู่ในแบบฟอร์มในช่องว่างที่เว้นไว้ให้กรอกข้อมูลนั้น ไม่ถือว่าเป็นการตกเติม ไม่จำเป็นต้องลงชื่อกำกับ เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาต่อไปนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 2138/2534 หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไม่มีการตกเติมข้อความโดยไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับดังที่จำเลยอ้าง เพราะไม่มีการตกเติมแต่ประการใด การเขียนด้วยปากกาหรือน้ำหมึกลงในช่องว่างที่เว้นไว้เพื่อระบุชื่อคนที่ถูกต้อง ไม่ต้องด้วยความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 46 วรรคสอง

ตัวอย่างหนังสือมอบอำนาจที่นำมาแสดงในที่นี้ เป็นเพียงแบบฟอร์มเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มีความประสงค์จะมอบอำนาจเท่านั้น ผู้ขอจดทะเบียนไม่จำเป็นต้องใช้แบบฟอร์มนี้ อาจจะพิมพ์ข้อความการมอบอำนาจขึ้นมาเองก็ได้ แต่ควรจะมีข้อความให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจดำเนินการแทนผู้มอบอำนาจให้มากเพียงพอ เพื่อความสะดวกในการมาติดต่อแทนผู้มอบอำนาจ ตัวอย่างหนังสือมอบอำนาจที่ผู้เขียนนำมาลงไว้ในบทความนี้ มีความ แตกต่างจากแบบฟอร์มที่กรมทรัพย์สินทางปัญญากำหนดไว้เล็กน้อยตรงที่มีข้อความที่มีอักษรตัวทึบอยู่ด้วย เพื่อให้ผู้รับมอบอำนาจสามารถดำเนินการแทนตัวการหรือผู้มอบอำนาจได้ โดยไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 805

ในการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เฉพาะคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเท่านั้นที่กฎกระทรวง (พ.ศ.2535) ข้อ 2 วรรคสอง กำหนดให้การกรอกข้อความในคำขอ ให้กรอกข้อความให้ครบถ้วนเป็นภาษาไทยโดยใช้พิมพ์ดีด หรือตีพิมพ์ และลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอนั้น ดังนั้น หนังสือมอบอำนาจซึ่งเป็นเอกสารประกอบการขอจดทะเบียนจึงอาจให้วิธีเขียนด้วยปากกาได้ แต่ส่วนมากผู้เขียนจะพบว่าผู้ขอจดทะเบียนจะใช้วิธีพิมพ์มากกว่า

คำพิพากษาฎีกาที่ 3242/2516 จำเลยทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมไปจัดการขายที่ดิน แต่เป็นหนังสือมอบอำนาจที่ใช้ไม่ได้เนื่องจากมีรอยขีดฆ่า และไม่ได้เซ็นชื่อกำกับข้อความเกี่ยวกับการรับเงิน ถือว่าหนังสือมอบอำนาจนี้ยังเป็นเอกสารของจำเลยอยู่ แม้จะได้มอบให้โจทก์ร่วมยึดถือไว้ ก็เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับดำเนินการไปตามที่มอบอำนาจเท่านั้น แต่เมื่อการมอบอำนาจของจำเลยไม่เป็นผล หนังสือมอบอำนาจนั้นก็เป็นอันหมดประโยชน์แก่โจทก์ร่วมแล้ว จำเลยผู้เป็นเจ้าของย่อมจะฉีกหรือทำลายเสียได้ การที่จะอ้างว่าที่จำเลยฉีกทำลายเสียทำให้โจทก์ร่วมเสียหายนั้นหาได้ไม่ เพราะแม้ในหนังสือมอบอำนาจนั้นจะมีข้อความถึงการรับเงินด้วย ก็อาจใช้ยันจำเลยไม่ได้เพราะจำเลยไม่รับรองว่าถูกต้อง

ในการมอบอำนาจนั้น จะมีจำนวนผู้รับมอบอำนาจมากกว่าหนึ่งคนก็ได้ ในการมอบอำนาจของตัวการที่อยู่ต่างประเทศที่มอบอำนาจให้คนไทยมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป มักจะใช้คำว่า และ/หรือ ดังนั้นจะต้องถือว่าจำนวนคนที่รับมอบอำนาจนั้นมีมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป

คำพิพากษาฎีกาที่ 7275/2543 ใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดี มีข้อความว่า “โดยหนังสือฉบับนี้ ข้าพเจ้า บริษัท น. โดย ท. กรรมการผู้มีอำนาจ ขอมอบอำนาจให้ ก. และ / หรือ ข. เป็นผู้รับมอบอำนาจ โดยให้มีอำนาจยื่นฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่งและคดีอาญาต่อศาลที่มีอำนาจกับบริษัท อ. ธนาคาร ก. และ ส. จนคดีถึงที่สุด และในการนี้ให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจ ดังต่อไปนี้? เป็นการมอบอำนาจให้มีอำนาจกระทำการได้หลายครั้ง กล่าวคือ ฟ้องคดีแพ่งได้หลายคดี และยังฟ้องคดีอาญาได้อีกหลายคดีทั้งผู้ถูกฟ้องที่ระบุไว้ 3 ราย อาจถูกฟ้องแยกคดีจากกันได้ด้วย ในส่วนของผู้รับมอบอำนาจมี 2 คน เชื่อมด้วยสันธาน “และ / หรือ” จึงอยู่ในบังคับทั้งข้อ 7 (ข) และ _______(ค) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ต้องปิดแสตมป์ ตามข้อ 7 (ค) ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่า คำนวณได้เป็นเงิน 60 บาท โจทก์ปิดแสตมป์มาเพียง 30 บาท โจทก์จึงใช้ใบมอบอำนาจฉบับนี้เป็นหลักฐานในคดีนี้ไม่ได้ ตามความในประมวลรัษฎากร มาตรา 118

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 804 บัญญัติว่า “ ถ้าในสัญญาอันเดียวกัน ตัวการคนเดียวตั้งตัวแทนหลายคนเพื่อแก่การอันเดียวกันไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าตัวแทนจะต่างคนต่างทำการนั้น ๆ แยกกันไม่ได้ ” ดังนั้นในกรณีหนังสือมอบอำนาจตั้งตัวแทนโดยมีคำว่า และ/หรือ นั้น ตัวแทนคนใดคนหนึ่งจะดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแทนผู้มอบอำนาจก็ได้

CR กรมทรัพย์สินทางปัญญา

 

Translate »