มอบอำนาจเครื่องหมายการค้าผู้มอบอำนาจจะต้องลงลายมือชื่อของตนในหนังสือมอบอำนาจ

 

มอบอำนาจเครื่องหมายการค้าผู้มอบอำนาจจะต้องลงลายมือชื่อของตนในหนังสือมอบอำนาจ

การมอบอำนาจ คือการให้ตัวแทนมีอำนาจทำการแทนตัวการนั่นเอง และการแต่งตั้งตัวแทนนั้นจะแต่งตั้งโดยเปิดเผยหรือโดยปริยายก็ได้ (มาตรา 797 วรรคสอง) และกิจการใดที่กฎหมายบัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนก็ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย การที่ทำหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือย่อมหมายถึงหนังสือหรือหลักฐานอันมีลายมือชื่อของผู้เป็นตัวการซึ่งเป็นผู้แต่งตั้ง (มาตรา 9) ส่วนสำหรับตัวแทนหรือผู้รับมอบนั้นหามีกฎหมายใดบังคับให้ต้องลงนามด้วยไม่

จากคำพิพากษาฎีกาที่ 851 – 852/2499 ที่กล่าวไว้ข้างต้น ได้พิพากษาไว้แล้วว่าสำหรับตัวแทนหรือผู้รับมอบนั้นหามีกฎหมายใดบังคับให้ต้องลงนามด้วยไม่ นั้น ก็ได้ข้อสรุปว่า ในหนังสือมอบอำนาจนั้นบุคคลผู้เป็นตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจจะไม่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจก็ได้ ถ้าตนเองยอมรับการเป็นตัวแทนหนังสือมอบ อำนาจดังกล่าวก็ยังเป็นหนังสือมอบอำนาจที่สมบูรณ์ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 1058/2520 การมอบอำนาจให้ฟ้องคดี เมื่อโจทก์ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้มอบอำนาจแล้ว ย่อมสมบูรณ์หาจำต้องลงชื่อผู้รับมอบอำนาจอีกชั้นหนึ่งไม่

การมอบอำนาจจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องทำเป็นหนังสือ

มีอยู่บ่อยครั้งที่ผู้ที่ไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียนเป็นบุคคลอื่นซึ่งมิใช่บุคคลที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือมิใช่เป็นตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจ เพื่อขอทราบผลของการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือเพื่อไปติดต่อขอแก้ไขข้อบกพร่อง ซึ่งจะไม่ได้รับความสดวกเพราะมิใช่บุคคลที่มีอำนาจดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเหล่านั้น ยกเว้นกรณีขอตรวจสอบเอกสารหรือทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือขอหนังสือรับรองการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 มาตรา 9 วรรค 2 บัญญัติว่า “คำขอจดทะเบียนหนึ่งฉบับ จะขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าต่างจำพวกกันมิได้ ” ประกอบกับกฎกระทรวง (พ.ศ.2534) ข้อ 2 กำหนดว่า “ บรรดาคำขอต้องใช้แบบพิมพ์ที่อธิบดีประกาศกำหนดพิมพ์ขึ้น ” ซึ่งหมายความว่า การยื่นคำขอจดทะเบียนจะต้องทำเป็นหนังสือ ฉะนั้นการมอบอำนาจให้ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ก็จะต้องทำเป็นหนังสือด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 ซึ่งบัญญัติว่า “ กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย ”

ฉะนั้น เมื่อการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะต้องยื่นแบบคำขอจดทะเบียนเป็นหนังสือตามแบบที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญากำหนด ดังนั้น การมอบอำนาจให้บุคคลอื่นเป็นตัวแทนไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย ซึ่งจะต้องระบุชื่อตัวแทน สัญชาติ และที่อยู่ไว้ในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ๆ ด้วย

ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจลงลายมือชื่อของตนแทนการลงลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจ

ผู้เขียนเคยลงไปช่วยงานติดต่อประชาชนเพื่อรับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เคยพบว่าในการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น บางกรณีจะต้องมีการตกเติมข้อความบางประการในคำขอจดทะเบียน ผู้ที่รับมอบอำนาจมาแทนที่จะลงชื่อของตนเอง กลับลงลายมือชื่อเป็นชื่อของผู้มอบอำนาจ โดยอ้างว่าได้รับมอบอำนาจมาแล้ว ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะในการดำเนินการแทนผู้มอบอำนาจนั้น ผู้รับมอบอำนาจสามารถที่จะลงลายมือชื่อของตนเองในการทำนิติกรรมใด ๆ แทนผู้มอบอำนาจได้โดยไม่ต้องให้ผู้มอบอำนาจลงลายมือชื่ออีก

คำพิพากษาฎีกาที่ 890/2503 ผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาย่อมมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอาญาแทนได้ เมื่อผู้เสียหายมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอาญาแล้ว ผู้ที่รับมอบอำนาจก็ย่อมลงชื่อในฟ้องแทนโจทก์ได้ ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 ข้อ (7)

นอกจากนั้น การที่ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำไปแทนผู้มอบอำนาจโดยการลงชื่อในสัญญาตามที่ได้รับมอบอำนาจนั้น ผู้รับมอบอำนาจย่อมลงชื่อในสัญญาได้โดยไม่จำเป็นต้องระบุในสัญญาว่าเป็นการทำสัญญาในฐานเป็นตัวแทนอีก

พยานที่ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจต้องเป็นพยานที่รู้เห็นการมอบอำนาจ

ในการลงนามในเอกสารหนังสือมอบอำนาจนั้น ผู้เขียนเคยพบบ่อย ๆ ว่า หนังสือมอบอำนาจที่ส่งพร้อมกับคำขอจดทะเบียนนั้น บางกรณีไม่มีพยานลงนามเป็นพยานรับรองการทำเอกสารนั้น ซึ่งตามแบบพิมพ์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้กำหนดรูปแบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจไว้มีชื่อให้พยานลงลายมือชื่อไว้ด้วย ซึ่งพยานที่ไปลงชื่อเป็นพยานจะต้องเป็นพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ในการทำเอกสารหนังสือมอบอำนาจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 75/2494 การลงชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 ในใบมอบฉันทะให้โอนที่ดิน (ยกให้) นั้น พยานผู้ลงชื่อจำต้องรู้เห็นในการพิมพ์ลายนิ้วมือ มิฉะนั้นจะเรียกว่าเป็นการรับรองลายพิมพ์นิ้วมือตามกฎหมายหาได้ไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 1844 – 1845/2531 เจ้ามรดกยกที่นาพิพาทให้โจทก์ โดยทำหนังสือมอบอำนาจให้ไปจดทะเบียนโอนที่อำเภอ หนังสือมอบอำนาจมีลายพิมพ์นิ้วมือของเจ้ามรดก แต่เจ้ามรดกผู้มอบอำนาจมิได้พิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้าพยาน การรับรองลายพิมพ์นิ้วมือจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเจ้ามรดกมิได้พิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ทำนิติกรรม การมอบอำนาจและการทำนิติกรรมโอนที่นาพิพาทให้แก่โจทก์จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาฎีกาที่ 1434/2545 บทบัญญัติมาตรา 60 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ได้บังคับว่าผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจหรือพยานผู้รู้เห็น จะต้องลงชื่อเมื่อใด ดังนั้นแม้ผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจหรือพยานผู้รู้เห็นจะลงลายมือชื่อภายหลังที่ได้มีการมอบอำนาจกัน ก็ไม่ทำให้การมอบอำนาจเสียไป

ผู้มอบอำนาจต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถตามกฎหมาย

บุคคลที่จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จะต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งได้แก่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมาย และจะต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย

คำพิพากษาฎีกาที่ 1574/2524 หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนลูกจ้างซึ่งทำไว้ก่อนตั้งศาลแรงงาน ผู้รับมอบอำนาจนำมาฟ้องคดีต่อศาลแรงงานก็ได้ และฟ้องเรียกค่าจ้าง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล ค่าเครื่องบิน

ไปกลับตามสัญญาได้ เมื่อจำเลยมิได้พิสูจน์ให้เห็นว่าผู้มอบอำนาจตาย ไร้ความสามารถหรือล้มละลาย ก็ไม่มีเหตุที่จะไม่รับฟังใบมอบอำนาจนั้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 566/2527 ไม่มีกฎหมายบังคับว่าถ้าผู้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีอายุ 80 ปีเศษต้องให้เจ้าหน้าที่อำเภอรับรองสติสัมปชัญญะของผู้มอบอำนาจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 4515 – 4516/2533 ข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอิงในชั้นฎีกาว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของจำเลยไม่ชอบ เพราะจำเลยอายุเกิน 70 ปีแล้ว แต่ไม่มีผู้รับรองว่าจำเลยยังมีสติรู้ผิดชอบนั้นเป็นข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ แม้จำเลยอาจยกขึ้นฎีกาได้เนื่องจากเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าข้อกฎหมายดังกล่าวมิใช่ข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกามีอำนาจไม่รับวินิจฉัย

ผู้รับมอบอำนาจต้องมิใช่คนต่างด้าว

บุคคลที่เป็นตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจให้ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จะต้องมิใช่คนต่างด้าว เพราะการเป็นตัวแทนนั้น ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 8 (3) บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันในกากรประกอบกิจการกับคนต่างด้าว ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีสาม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ” 6

ตามบัญชีสาม ข้อ (11) ได้กำหนดให้การทำกิจการนายหน้าตัวแทนเป็นธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันในการประกอบกิจการกับคนต่างด้าว

ดังนั้น การตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจให้คนต่างด้าวเป็นตัวแทนไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จะทำได้โดยผู้รับมอบอำนาจจะต้องส่งหนังสืออนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แนบไปพร้อมกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วย

ส่วนใหญ่เมื่อผู้เขียนขอให้ส่งเอกสารประกอบดังกล่าว ผู้ขอจดทะเบียนจะขอส่งหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่โดยตัดชื่อคนต่างด้าวนั้นออกไป เพราะโทษของการประกอบธุรกิจการเป็นตัวแทนโดยไม่ได้รับอนุญาต ฯ นั้น มาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 กำหนดไว้ให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเลิกการประกอบธุรกิจ หรือเลิกกิจการหรือสั่งเลิกการเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วน แล้วแต่กรณี หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลต้องระวางโทษปรับวันละหนึ่งหมื่นถึงห้าหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

ผู้รับมอบอำนาจต้องมีสภาพเป็นบุคคลและมีความสามารถตามกฎหมาย

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา799 บัญญัติว่า “ตัวการคนใดใช้บุคคลผู้ไร้ความสามารถเป็นตัวแทน ท่านว่าตัวการคนนั้นย่อมต้องผูกพันในกิจการที่ตัวแทนกระทำ” ผู้เขียนเคยพบว่า มีการมอบอำนาจให้ผู้เยาว์เป็นตัวแทนไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งกรณีนี้ผู้เขียนไม่ได้เรียกให้ส่งหนังสือยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเหมือนเช่นผู้เยาว์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในนามของตนเอง

คำพิพากษาฎีกาที่ 598/2506 ยายยกที่ดินให้หลาน โดยทำใบมอบอำนาจให้หลานไปทำนิติกรรมแทน แม้หลายนั้นจะยังไม่บรรลุนิติภาวะ ก็เป็นผู้รับมอบอำนาจได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 369/2530 แม้ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเป็นหญิงมีสามี แต่การฟ้องคดีมิได้เกี่ยวกับสินสมรสและไม่ได้ก่อให้เกิดภาระติดพันสินสมรสระหว่างผู้รับมอบอำนาจกับสามี จึงไม่เป็นการจัดการสินสมรส ผู้รับมอบอำนาจไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามี

การมอบอำนาจของนิติบุคคล

นิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด และนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น ๆ ได้แก่ บริษัทมหาชนจำกัด มูลนิธิ สมาคม บรรษัท จะมีดำเนินการแทนนิติบุคคลเหล่านั้น ซึ่งเป็นผู้แทนของนิติบุคคลดำเนินการตามที่ข้อบังคับของนิติบุคคลนั้นกำหนดไว้ ซึ่งถ้าเป็นการมอบอำนาจโดยนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย เอกสารสำคัญที่จะต้องใช้ประกอบคือ หนังสือรับรองนิติบุคคล ซึ่งนายทะเบียนออกให้ไม่เกิน 6 เดือน

ในหนังสือรับรองนิติบุคคลจะมีข้อความโดยย่อที่นายทะเบียนระบุไว้ว่า ใครผู้ใดเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล จะต้องประทับตราของนิติบุคคลหรือไม่ ซึ่งดำเนินการของนิติบุคคลหรือการมอบอำนาจในนามนิติบุคคลจะต้องกระทำโดยผู้แทนของนิติบุคคลดังกล่าว

คำพิพากษาฎีกาที่ 610/2515 หุ้นส่วนที่ไม่ใช่ผู้จัดการหรือผู้แทนของห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคล ย่อมไม่มีอำนาจร้องทุกข์แทนห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 3362/2532 การเป็นกรรมการบริษัทเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัว กรรมการจึงต้องกระทำการด้วยตนเอง จะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำแทนตนในฐานะกรรมการบริษัทหาได้ไม่ เมื่อข้อบังคับของโจทก์ระบุว่า กรรมการซึ่งลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทโจทก์คือ นาง ก. ลงลายมือชื่อร่วมกับนาย ช. ดังนั้นการที่นาง ก. ลงลายมือชื่อในนามตนเองและลงลายมือชื่อในฐานะตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากนาย ช.ในคำฟ้อง จึงไมมีผลผูกพันบริษัทโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาฎีกาที่ 1306/2533 โจทก์มีตัวผู้รับมอบอำนาจมาสืบประกอบสำเนาหนังสือรับรองการจัดตั้งบริษัทโจทก์โดยนายทะเบียนบริษัทเมืองฮ่องกงและมีโนตารีปับลิกเมืองฮ่องกงรับรองสำเนาหนังสือรับรองดังกล่าวและมีหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้ ป.ดำเนินคดีแทน โดยมีคำรับรองของโนตารีปับลิกเมืองฮ่องกงและกงสุลแห่งประเทศไทยว่า จ. และ อ. กรรมการบริษัทโจทก์ได้ลงนามอย่างเป็นทางการในหนังสือมอบอำนาจและเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของ จ. และ อ. จึงเชื่อได้ว่าบริษัทโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ป. ดำเนินคดีนี้จริง หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 47

คำพิพากษาฎีกาที่ 1493/2540 การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1144, 1158 และ 1164 เป็นการมอบอำนาจของกรรมการบริษัทที่มอบอำนาจของกรรมการเองให้แก่ผู้อื่น ซึ่งผู้ที่ได้รับมอบอำนาจเช่นนั้นต้องเป็นผู้จัดการหรออนุกรรมการซึ่งตั้งจากผู้เป็นกรรมการบริษัทด้วยกัน

แต่การมอบอำนาจให้กระทำการแทนบริษัท เช่น การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนบริษัทในคดีนี้ โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีด้วยตนเองหรือโดยมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมาฟ้องคดีแทน และในกรณีที่โจทก์มอบอำนาจให้บุคคลอื่นฟ้องคดีแทน การมอบอำนาจนั้นย่อมต้องกระทำโดยกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ซึ่งจะมอบอำนาจเช่นนั้นให้แก่บุคคลใดก็ได้ เว้นแต่โจทก์มีข้อบังคับกำหนดเกี่ยวกับการมอบอำนาจเช่นนั้นไว้เป็นพิเศษว่าต้องมอบให้แก่บุคคลประเภทใดโดยเฉพาะ จึงจะต้องกระทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับนั้นด้วย

คำพิพากษาฎีกาที่ 989/2543 กรรมการเป็นผู้แทนและเป็นผู้แสดงออกซึ่งความประสงค์ของบริษัท มีอำนาจหน้าที่กระทำการในนามของบริษัทภายในอำนาจของตน และถือว่าเป็นการกระทำของบริษัทเอง ไม่ใช่ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทหรือบริษัทเป็นผู้สั่งการให้ทำ จึงไม่ถูกจำกัดอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 801

CR กรมทรัพย์สินทางปัญญา

 

Translate »