ประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา

2.ประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา
โดยทั่ว ๆ ไปคนไทยส่วนมากจะคุ้นเคยกับคำว่า “ลิขสิทธิ์” และจะใช้เรียกทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภท โดยที่ถูกต้องแล้ว ในทางสากลทรัพย์สินทางปัญญาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (Industrial Property) และลิขสิทธิ์ (Copyright)
2.1 ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (Industrial Property)
หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ ความคิดสร้างสรรค์นี้ อาจเป็นความคิดในการประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งอาจจะเป็นกระบวนการหรือเทคนิคในการผลิตที่ได้ปรับปรุงหรือคิดค้นขึ้นใหม่ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมที่เป็นองค์ประกอบและรูปร่างของตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังรวมถึงเครื่องหมายการค้าหรือยี่ห้อ ชื่อและถิ่นที่อยู่ทางการค้า รวมถึงแหล่งกำเนิดและการป้องกันการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรมจึงสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
2.1.1 สิทธิบัตร (Patent)
2.1.2 แบบผังภูมิของวงจรรวม (Layout – Design of Integrated Circuit)
2.1.3 เครื่องหมายการค้า (Trademark)
2.1.4 ความลับทางการค้า (Trade Secret)
2.1.5 ชื่อทางการค้า (Trade Name)
2.1.6 สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications)
2.2  ลิขสิทธิ์ (Copyright)
หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผู้สร้างสรรค์ที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นตามประเภทลิขสิทธิ์ที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ งานวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนก
วิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ไม่ว่างานลักษณะดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด นอกจากนั้น กฎหมายลิขสิทธิ์ยังให้ความคุ้มครองถึงสิทธิของนักแสดงด้วย

CR กรมทรัพย์สินทางปัญญา

 

Translate »